เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่เป็นทั้งแนวคิด หลักการ และแนวทางปฏิบัติตนของแต่ละบุคคล และองค์กร โดยคำนึงถึงความพอประมาณกับศักยภาพของตนเอง และสภาวะแวดล้อม ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง โดยใช้ความรู้อย่างถูกหลักวิชาการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เบียดเบียนกัน แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมมือปรองดองกันในสังคม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสายใยเชื่อมโยงคนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเข้าด้วยกัน สร้างสรรค์พลังในทางบวก นำไปสู่ความสามัคคี การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ได้ การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและมั่นคงในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆ มีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่วางอยู่บนฐานรากเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และระบบนิเวศน์ชุมชน บนฐานทุน4 ประการ คือ ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และทุนทางกายภาพ โดยเน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก ลดการพึ่งพาภายนอก การสร้างภูมิคุ้มกันและการเรียนรู้ เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับอำนาจภายนอกเพิ่มขึ้น พยายามทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและไม่กินทุนทั้ง 4 ประการ อย่างไรก็ตามระบบเศรษฐกิจที่ทาให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในทางเศรษฐกิจย่อมสัมพันธ์กับความสามารถทางการผลิตของท้องถิ่นที่ดำรงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างมีศักดิ์ศรี และสร้างความได้เปรียบหรือจุดขายให้กับผลผลิตของท้องถิ่น โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เป็นเครือข่ายองค์การชุมชนเข้มแข็ง เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและเพิ่มรายได้ ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างครบวงจร
สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบสนอง พันธกิจของมหาวิทยาลัยในการให้บริการวิชาการสู่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน ตลอดจนพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำให้แก่ผู้นำท้องถิ่นและเกษตรกรในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการอบรมให้ความรู้ การถอดบทเรียน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่คนในชุมชนและองค์กรชุมชน โดยผลของการบริการวิชาการในพื้นที่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เกษตรกรและผู้นำชุมชนได้ประยุกต์แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน และหลักการโครงการ เข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุมชนเกิดผลที่เป็นรูปธรรม อาทิ โครงการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอ้อยและมันด้วยเกษตรอินทรีย์ โครงการหมูหลุม โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และกำจัดศัตรูพืชด้วยสมุนไพร เป็นต้น
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จากการศึกษาแผนชุมชนระดับตำบล ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ชุมชนมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ คือ รายได้ไม่เพียงพอ ต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งมีแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ ส่งเสริมอาชีพเพิ่มรายได้ และใช้ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นเองเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจพอเพียง ของชุมชน เพื่อให้การบริการวิชาการแก่ชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน และหลักการโครงการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีการขยายเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและเกิดถ่ายทอดองค์ความรู้ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนจึงขอเสนอโครงการบริการวิชาการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้กิจกรรม“การบูรณาการแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงานเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”ในพื้นที่ตำบลวังกระแจะ ตำบลไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งนี้ เพื่อสนองต่อพระราชดำริ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนบนพื้นฐาน ภูมิสังคม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต และเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์อันจะนำมาสู่การพัฒนาหลักสูตร การบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย พัฒนาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ และเป็นการสร้างเครือข่ายกับชุมชนและหน่วยงานในชุมชน
|